หลักการและเหตุผล

กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้ส่งผลให้การแข่งขันในเวทีโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกมิติ การนำพาให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต ทันสมัย ก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืนได้ ต้องอาศัยกลไกการพัฒนาประเทศบนหลักคิดที่เหมาะสม จากร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ที่สอดคล้องเชื่อมโยงไปยังเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ มองว่าการพัฒนานั้นจะต้องพัฒนามิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างสมดุล การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมจึงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลจนถึงระดับประเทศ

สถาบันการศึกษามีภารกิจทางด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการให้กับสังคม โดยมีอาจารย์ นักวิจัยและนักวิชาการเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญยิ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ มีนโยบายส่งเสริมให้คณาจารย์ นักวิจัยและนักวิชาการผลิตผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง งานประชุมวิชาการจะเป็นเวทีสำหรับคณาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการสามารถนำผลงานของตนมาเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงานวิชาการ อันจะนำมาซึ่งความคิด มุมมองและองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัย ตลอดจนการบริการวิชาการให้กับสังคม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้คณาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการได้พัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้จัดการประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิชาการระดับชาติ (UTCC National Conference) มาหกครั้งแล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการรวมทั้งนักศึกษาจาก หลายสาขาวิชา หลายสถาบันเข้าร่วมในการประชุม และเพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการและพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้คณาจารย์ นักวิจัยและนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงจะจัดการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิชาการระดับชาติขึ้นอีกครั้ง

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการของคณาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการ
2. เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างคณาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการ
3. เพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางด้านการวิจัยและวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. มหาวิทยาลัยสามารถสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคสังคม
2. เกิดเวทีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้ การจัดการในภาคธุรกิจ การค้าและบริการ การศึกษา และการวิจัย ของบุคลากรมหาวิทยาลัยและนักวิชาการภายนอก ทำให้สามารถนำประสบการณ์และองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจ การค้าและบริการต่างๆ ตลอดจนชุมชนและสังคมของประเทศให้มีความพร้อมในการแข่งขัน

รายชื่อหน่วยงานร่วมจัดงาน

• มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
• หอการค้าไทย
• สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
• สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท.)
• Ming Chuan University, MCU
• วิทยาลัยนานาชาติไทย-จีนเพื่อการจัดการ (TCISM)
• สมาคมธุรกิจไทยรุ่นใหม่ (Yong Thai Entrepreneurs Association: YTEA)
• สมาคมการค้านักธุรกิจไทย-จีน 泰中侨商联合会 Thai-Chinese Commerce Association
• สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อความยั่งยืน

รูปแบบการประชุม

การนำเสนอผลงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการ

ประเภทของการนำเสนอ

นำเสนอผลงานในรูปแบบ การประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Cisco WebEx เฉพาะแบบบรรยาย (Oral Presentation) ใช้เวลาในการนำเสนอ 15 นาที โดยใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน

ลักษณะของผลงานที่เปิดรับ

1. เป็นผลงานทางวิชาการหรือผลงานวิจัย ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการและยังไม่เคยตีพิมพ์หรือนำเสนอในการประชุมวิชาการใดมาก่อน
2. เป็นผลงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการในกลุ่มสาขา
  • สังคมศาสตร์ อาทิ บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ
  • มนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบดิจิทัล
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์

กำหนดการส่งบทความ

ช่วงเวลา การดำเนินงาน
ตั้งแต่วันนี้ - 30 เม.ย. 66 เปิดรับบทความฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ภาษาไทย ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน ไม่เกิน 15 หน้า ผ่านทางหน้าเว็บไซต์
1 มี.ค. 66 – 10 พ.ค. 66 ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
20 พ.ค. 66 วันสุดท้ายของการรับบทความฉบับแก้ไข
26 พ.ค. 66 ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เสนอผลงาน
6 มิ.ย. 66 การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 (The 7th UTCC National Conference)
ตั้งแต่ 20 มิ.ย. 66 ดาวน์โหลดเอกสารรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings)

การลงทะเบียน

ลงทะเบียนในแบบฟอร์มออนไลน์ที่ www.utcc.ac.th/conference_7

สำหรับผู้นำเสนอผลงานให้โอนเงินเข้าบัญชี

ธนาคารกสิกรไทย สาขาซอยวิภาวดีรังสิต 2 (หอการค้า)
บัญชีเลขที่ 121-1-51521-6 ชื่อบัญชีนางสาวลลิดา ปรีดากรณ์ และนางสาวนิรมล สุดคนึง
ประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 (The 7th UTCC National Conference)

เมื่อผู้สมัครโอนเงินค่าลงทะเบียนแล้ว ให้ผู้สมัคร upload หลักฐานการชำระเงินได้ที่ระบบลงทะเบียนออนไลน์ และตั้งชื่อไฟล์เป็นชื่อของผู้สมัคร
หมายเหตุ: ทั้งนี้เมื่อโอนเงินแล้วผู้จัดงานจะไม่คืนเงินไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

ค่าลงทะเบียน

1. ชำระเงินภายใน 31 มีนาคม 2566
  • นักศึกษา 2,000 บาท/เรื่อง
  • อาจารย์ ข้าราชการ นักวิจัย บุคคลทั่วไป 2,500 บาท/เรื่อง
2. ชำระเงินระหว่าง 1 -30 เมษายน 2566
  • นักศึกษา 2,500 บาท/เรื่อง
  • อาจารย์ ข้าราชการ นักวิจัย บุคคลทั่วไป 3,000 บาท/เรื่อง

รูปแบบบทความฉบับสมบูรณ์ (Template)

• รูปแบบบทความฉบับสมบูรณ์ (ไทย-อังกฤษ) Download Template
• รูปแบบบทความฉบับสมบูรณ์ (ไทย-จีน) Download Template

สถานที่จัดโครงการ

การประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Cisco Webex

ติดต่อสอบถาม

กองส่งเสริมงานวิจัย สายงานวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โทรศัพท์ 0 2697 6381-2, มือถือ 08 0228 8350
E-mail: [email protected]

© UTCC. All Rights Reserved.