โครงการประลองความสามารถทางวิชาการ “การถ่ายภาพสินค้าอาหารในสตูดิโอ” ครั้งที่ 2 โดยเครือข่ายนิเทศศาสตร์ ที่ห้องสตูดิโอ มหาวิยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มพูนศักยภาพในส่วนของภาคปฏิบัติ ให้กับอาจารย์ และนักศึกษาในเครือข่ายนิเทศศาสตร์ประเทศไทย 11 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย สถาบันกันตนา,มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยเนชั่น,มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยสยาม, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดย ปี2562 นี้ เป็นการแข่งขันถ่ายภาพผลิตภัณฑ์มะเขือเทศดอยคำ แต่ละสถาบันส่งผู้เข้าร่วมแข่งขันทีมละ 3 คน ประกอบด้วย ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ และ Food stylist ผู้เข้าร่วมแข่งขันฟังบรรยายเชิงปฏิบัติการโดยวิทยากรจากบริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับแนวคิดและเทคนิคตลอดจนสาธิตการถ่ายภาพสินค้าประเภทอาหาร นอกจากนี้ยังประกอบด้วยคณะกรรมการตัดสินคุณ บุญสิทธิ์ รัตนจารีต จากบริษัทนิคอนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณสุทิศา ไตรกิศยาโสภณ ตัวแทนจากผลิตภัณฑ์ ดอยคำ ผลการแข่งขัน “การถ่ายภาพสินค้าอาหารในสตูดิโอ” ครั้งที่ 2 ปีนี้ ปรากฏว่า รางวัลประเภท Combination pack shot ได้แก่ ชนะเลิศอันดับ 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, รองชนะเลิศอันดับ 1 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตและรองชนะเลิศอันดับ 2 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ประเภทรางวัล Single pack shot ได้แก่ชนะเลิศอันดับ 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, รองชนะเลิศอันดับ 1 มหาวิทยาลัยศรีปทุมและรองชนะเลิศอันดับ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ นายวรเมธ แสงหงษา (น้องโต้) นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ กลุ่มวิชาเอกสร้างสรรค์และออกแบบสื่อ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทีมผู้ชนะเลิศอันดับ 1 เล่าว่า “ผมทำหน้าที่ในทีมเป็นผู้ช่วยช่างภาพ ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการจัดแสงระหว่างการถ่ายผลิตภัณฑ์ดอยคำทั้งหมดอีกทั้งยังคอยช่วยเหลือและต่อยอดความคิดจากทีมที่ได้คิดออกมาแล้วนำมาดัดแปลงและจัดองค์ประกอบของภาพเพิ่มเติมเพื่อให้มันดีมากขึ้นกว่าเดิม ทีมเราใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 2 อาทิตย์ ดีใจและเป็นสิ่งที่ภูมิใจที่เราพยายามช่วยกันคิด ฝึกซ้อม กันมาจนมันประสบความสำเร็จ อีกทั้งเรายังรู้สึกตกใจที่ฝีมือของเราสามารถไปเข้าตาคณะกรรมการเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้ขนาดนี้มันเป็นอะไรที่เราดีใจมากคับ หลังจากนี้เมื่อแข่งขันเสร็จทีมเราจะนำภาพที่ถ่ายในการแข่งขันมาจัดนิทรรศการให้กับทางคณะในมหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ให้กับน้องๆ เพื่อนในมหาวิทยาลัยได้ชมกัน” นายเมธพนธ์ เมทา (น้องเคนโด้) นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ กลุ่มวิชาเอกสร้างสรรค์และออกแบบสื่อ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทีมผู้ชนะเลิศอันดับ1 เปิดเผยว่า “ผมทำหน้าที่เป็นช่างภาพประจำทีม ทีมเรามีการฝึกซ้อมถ่ายภาพบ่อยๆ เพื่อให้มันเกิดความคุ้นชินกับตัวผลิตภัณฑ์ การจัดแสง การตั้งค่ากล้อง ส่วนเทคนิคพิเศษอาจจะเป็นการที่เราสามารถดูได้ว่าองค์ประกอบของภาพที่ดีมันควรออกมาเป็นอย่างไรแล้วเราก็นำตรงนั้นมาปรับใช้ โดยตามความคิดของเรานั้นภาพที่ดีที่เราเห็นจากสื่อต่างๆ คือการใช้แสง การจัดวางองค์ประกอบให้เหมาะสมและสมดุลกัน ที่สำคัญทีมของเรามีความสามัคคีกันอย่างมาก หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ประเภทนี้แล้วทางผู้จัดงานจะนำภาพที่ทีมเราถ่ายไปใช้ในสื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ตัวผลิตภัณฑ์ดอยคำ สิ่งนี้ทำให้ทีมผมดีใจและประทับใจเป็นอย่างมาก” นายสุริยวงศ์ สมอคำ (น้องโอ๊ตน้ำ) นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ กลุ่มวิชาเอกสร้างสรรค์และออกแบบสื่อ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทีมผู้ชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า “ผมทำหน้าที่ Food stylist ของทีมทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการที่จะสร้างคอนเทนท์ใหม่เกี่ยวกับ “โทเมโท่ แฟมิลี่” ว่าความเป็นมาเป็นไปของมะเขือเทศของเขามีอะไรบ้าง เริ่มจากปลูกเป็นผลออกมา นำมาเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ออกมาเป็นในรูปแบบกระป๋อง แยม น้ำมะเขือเทศ ฯลฯ ทางคณะกรรมการต้องการที่จะรวมผลิตภัณฑ์พวกนี้ให้เป็นเหมือนครอบครัวหนึ่งที่มาจากมะเขือเทศทั้งหมดที่ทำให้คนที่ได้พบเห็นรู้สึกว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นเข้าถึงง่าย ผมเลยกลับมาตีโจทย์ว่าภาพที่ออกมาควรจะออกมาในอารมณ์ไหน ต้องหารูปแบบการจัดผลิตภัณฑ์ว่าจะต้องจัดอย่างไรเพื่อให้ออกมาเหมาะสมตามแบบที่โจทย์ต้องการ การตีโจทย์ความอบอุ่นของทีมเราคืออยากให้ตัวผลิตภัณฑ์นั้นตั้งอยู่ในครัวทุกคนในครอบครัวสามารถหยิบมาทาน หยิบมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะเน้นรูปแบบความอบอุ่นเป็นครอบครัว ภาพที่ถ่ายออกมาก็อยากให้มันสะท้อนเหมือนกับในหลวงรัชการที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงกำลังโอบกอดประชาชนของพระองค์อยู่ สิ่งที่ทำให้เราชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท อาจเพราะเราสามารถตีโจทย์ได้รูปภาพทุกรูปของเรามันไปในทิศทางเดียวกัน การถ่ายรูปของเราจะไม่ถ่ายให้รูปใดรูปหนึ่งหลุดคอนเซ็ปไปอันนี้เราจะไม่ทำ สุดท้ายแล้วเราคิดว่าโจทย์ความอบอุ่นรูปทุกรูปมันก็ต้องเป็นโทนเดียวกันทั้งหมดเพื่อที่จะสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจเหมือนกันมากที่สุด”